โดยทั่วไปแล้วขยะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
ขยะอินทรีย์ หรือ มูลฝอยย่อยสลาย คือ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น เศษอาหาร เศษผัก เศษเนื้อสัตว์ เปลือกผลไม้ ใบไม้
ขยะรีไซเคิล หรือ มูลฝอยที่ยังใช้ได้ คือ วัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมารียูสหรือรีไซเคิลได้ เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ กระดาษ นอกจากนี้ เรายังสามารถแยกขยะแต่ละชนิดไว้ด้วยกัน เช่น ขวดพลาสติกใสรวมกับขวดพลาสติกใส ขวดพลาสติกขุ่นรวมกับขวดพลาสติกขุ่น หรือกระดาษก็รวมไว้กับกระดาษ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการมากยิ่งขึ้น และสามารถนำขยะแต่ละชนิดล้างและแยกเก็บไว้เพื่อรียูสหรือรีไซเคิล หรือนำไปขายตามจุดรับซื้อต่าง ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าและเป็นการจัดการขยะได้อย่างเหมาะสม
ขยะทั่วไป หรือ มูลฝอยทั่วไป คือ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้หรือย่อยสลายยาก ไม่อันตราย และไม่คุ้มสำหรับการรีไซเคิล เช่น ซองขนม กล่องโฟม ถุงพลาสติก ภาชนะปนเปื้อนอาหาร พลาสติกห่อลูกอม เนื่องจากเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก เราจึงต้องมีวิธีการจัดการอย่างถูกวิธี สามารถทำวิธีการเดียวกันกับขยะรีไซเคิลได้ คือ ล้างและแยกเก็บไว้ในแต่ละชนิด เพื่อนำไปขายตามจุดรับซื้อต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถจัดการขยะได้เหมาะสมอีกด้วย
ขยะอันตราย หรือมูลฝอยอันตราย คือ ขยะที่มีองค์ประกอบ หรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ ได้แก่ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นที่อาจทำให้เกิดอันตราย แก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดฟูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่ วิธีการจัดการที่ง่ายที่สุดของขยะอันตราย คือทิ้งขยะให้ถูกที่เพื่อไม่ให้สารพิษออกมาปนเปื้อนกับดินและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้
แล้วขยะเหล่านี้ต้องทิ้งลงถังสีอะไร
- ขยะอินทรีย์ หรือ มูลฝอยย่อยสลาย ทิ้งลง ‘ถังขยะสีเขียว’
- ขยะรีไซเคิล หรือ มูลฝอยที่ยังใช้ได้ ทิ้งลง ‘ถังสีเหลือง’
- ขยะทั่วไป หรือ มูลฝอยทั่วไป ทิ้งลง ‘ถังขยะสีน้ำเงิน’
- ขยะอันตราย หรือมูลฝอยอันตราย ทิ้งลง ‘ถังขยะสีแดง’
|